รีวิวหนังสือ Cookery For The Hospitality Industry ผู้เขียน Dodgshun & Peters
การทำอาหารคงเป็นเรื่องง่ายของใครบางคน แต่อาจเป็นเรื่องยากของใครอีกหลายคนเช่นกัน ตาก็เป็นหนึ่งในนั้น ก็คือการทำอาหารเป็นเรื่องยากสำหรับตา เพราะว่าไม่ค่อยได้ลงมือทำอาหารมากนักในช่วงเวลาที่อยู่เมืองไทย ส่วนใหญ่จะซื้อกินหรือไม่ก็แม่ทำให้กิน พอมาอยู่เมืองนอกทางออกที่ดีที่สุด สำหรับคนทำอาหารไม่เป็น ก็คือการมีหนังสือทำอาหารดี ๆ ซักเล่มติดเอาไว้
หนังสือที่ตามีก็เป็นหนังสือเกี่ยวกับอาหาร ตั้งแต่สมัยตาเรียนเป็นเชฟเพื่อที่จะได้สมัครเป็นประชากรของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นอาชีพที่ขาดแคลนในตอนนั้น และคิดว่าคงเป็นวิชาที่เหมาะกับเรามากที่สุด เอาจริง ๆ คือคิดว่ามันน่าจะง่ายกว่าการไปเรียนบัญชีแน่นอน คือชีวิตไม่ชอบตัวเลข หันหน้าเข้าหากระทะน่าจะดีกว่าว่างั้น ก็เลยเลือกเรียน Commercial Cookery
ในการเรียนก็จะมีหนังสือที่เกี่ยวกับการทำอาหารหนังสือที่ตาใช้เรียนก็คือ Cookery For The Hospitality Industry ของ Graham Dodgshus & Michel Peters เป็นหนังสือที่สถาบันที่ตาเรียน ได้นำมาใช้ประกอบการเรียนการสอน ดูจากประวัติการตีพิมพ์ของหนังสือเล่มนี้แล้วมี การตีพิมพ์ครั้งแรกโดย Edward Arnold 1982 และ Cambridge University Press 1999 United States of America และต่อมาผู้เขียนทั้งสองท่านนี้ก็นำมาจัดทำเป็นหนังสือฉบับปรับปรุงครั้งที่ 5 FIFTH EDITION มีทั้งหมด 660 หน้า Printed in Australia by Ligare Pty Ltd.
โดยเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้จะเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด พี่ ๆ อ่านออกหมดเลยหรอ เอ่อ!! ก็ไม่หรอก แค่ได้นิดหน่อยแต่ส่วนใหญ่การเรียนของตาจะเป็นการปฏิบัติคือลงมือทำ ก็เลยไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่นัก มาดูเนื้อหากันดีกว่า เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้จะมีการแนะนำตั้งแต่การลับมีด ความสะอาดในการทำอาหาร ระดับอุณหภูมิของการทำอาหาร มีสูตรอาหารทั้งคาวหวาน ทั้ง Appetisers, Canapes, Sauces, Soup, Pasta, Pastries, Hot and Cold desserts, การหั่นรูปแบบต่าง ๆ เนื้อสัตว์ส่วนไหนเรียกว่าอะไร การตัดแต่งผลไม้สำหรับตกแต่งจานอาหาร มีสูตรอาหารพร้อมวิธีการทำและเทคนิคต่าง ๆ ครบครันบอกเลย
ในหนังสือจะแบ่งหัวข้อออกอย่างชัดเจน แบ่งเป็น Part 1 และ Part 2 มีการทำสีบอกไว้ที่ห้วข้อ ให้หาได้ง่ายขึ้น ส่วนด้านหลังของหนังสือก็จะเป็น Index ในการหาสูตรอาหารทำให้ง่ายต่อการค้นหา ลดเวลาไปได้เยอะ ก็แหมหนังสือมีเนื้อหาแน่นซะขนาดนี้ถ้าไม่ทำแบบนี้คงต้องใช้เวลาน่าดู ว่ามั้ยล่ะ??
สำหรับคนที่อยากเรียนรู้การทำอาหารฝรั่งและพอได้ภาษาอังกฤษบ้าง หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี เพราะว่ามีเนื้อหาอย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ยังไม่หมดยังมีศัพท์เทคนิคซึ่งอาจจะเป็นเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ใน วงการอาหารที่จะเคยได้ยินกัน เช่น Mise en place คือการจัดเตรียมอาหาร A la carte อาหารตามสั่ง หรือ Simmering น้ำเดือด เป็นต้น ในหนังสือยังมี CD-ROM แจก แนบเอาไว้ที่ปกหลังของหนังสือด้วย
ปกหนังสือเป็นปกแข็ง ใช้กระดาษคุณภาพดีมีการเข้าเล่มแบบแข็งแรง แหมอวยหนังสือไปป่าวพี่ ไม่ได้อวย เพราะว่าหนังสือเล่มนี้อยู่กับตามาประมาณ 15 ปีแล้วย้ายบ้านไปไหนมาไหนก็หิ้วไปด้วย เพราะมันเหมือนเป็นวิชา อาชีพ คือเราได้เรียนรู้จนมาประกอบวิชาชีพในสายงานนี้เลยอยากเก็บเอาไว้เป็นความทรงจำ อายุยาวนานขนาดนี้กาวที่สันปกยังไม่เสื่อมเลยอ่ะ 55 ที่สำคัญมีสูตรอาหารเยอะมากที่ยังไม่ได้ลองทำเลย
ในการรีวิวหนังสือเล่มนี้ ทำให้ตาได้กลับมาอ่านเนื้อหาในส่วนที่ยังไม่ได้อ่าน เพราะว่าเนื้อหาเยอะมาก ได้หวนกลับไปรำลึกถึงตอนสมัยเรียนเป็นเชฟ ซึ่งเป็นก้าวแรกของการเริ่มต้นการมาเป็นพลเมืองของออสเตรเลีย หวังว่าการรีวิวหนังสือเกี่ยวกับอาหารเล่มนี้จะเป็นประโยชน์กับหลาย คนที่ชอบเรียนรู้การทำอาหารฝรั่งกันไม่มากก็น้อย แล้วกลับมาเจอกันใหม่กับบทความพร้อมเรื่องราวดี ๆ ของสาวออสซี่คนนี้นะคะ
ติดตามผลงานได้ที่
ติดต่อพูดคุยได้ที่
Line id: Tukta1240
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น