วิธีการเลือกมีดแกะสลักผักผลไม้
“มีดแกะสลัก” หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Carving Knife มีดแกะสลักมีหลายแบบ ซึ่งแบ่งออกไปตามลักษณะประเภทของงาน ไม่ว่าจะเป็นการแกะสลักน้ำแข็ง การแกะสลักไม้ การแกะสลักผักผลไม้ การแกะสลักหิน เป็นต้น
วันนี้เราจะมาคุยกันในเรื่องของมีดแกะสลักผักผลไม้กันดีกว่าค่ะ ตาเป็นคนหนึ่งที่ชอบเรียนรู้งานแกะสลักผักผลไม้ แรกเริ่มเดิมทีต้องออกตัวก่อนนะคะว่า ไม่ชอบเอามั่ก ๆ ในสมัยวัยเรียนชั้น ม.3 เคยมีเรื่องฝังใจกับการเรียนงานแกะสลัก พูดแล้วยังไม่อยากจะเชื่อตัวเองว่าทำไมถึงหันมาชอบได้ยังไงนิ
คือว่าตาสอบตกวิชางานฝีมือติด ร. อย่าถามกันเลยนะว่า ร ที่ติดนี่หมายความว่าอะไร ไม่รู้ว่ารอลงอาญาหรือเปล่า 555 คือในวันที่เพื่อน ๆ ทุกคนเรียนผ่านหมดและรอการจบการศึกษาเพื่อที่จะไปเรียนต่อ แต่อิชั้นสอบตกเจ้าค่า ทำไงได้ล่ะ ก็ต้องไปแก้ ร ซิคะจะรอทำไม ไม่อย่างนั้นก็คงไม่จบพร้อมเพื่อน ในทุก ๆ วันช่วงเวลาตอนเย็นต้องมานั่งพับเพียบเรียบร้อย แกะสลักผักผลไม้กับอาจารย์ประจำวิชานี้ ซึ่ง ดุ โหด มาก ทำไมต้องดุขนาดนั้นด้วยก็ไม่รู้ 555 ก็ทำกันไปทั้งเทอม สุดท้ายก็ได้จบพร้อมกันกับเพื่อน
พอนึกถึงตอนนี้อยากจะกราบขอบพระคุณคุณครูท่านนี้อย่างมาก เพราะว่าได้วิชามาแบบว่ามันฝังเข้าไปในสายเลือด กลายเป็นคนที่หันมาทำงานด้านนี้ได้ดี และก็มีรายได้จากงานนี้เป็นอาชีพเสริม ใครจะไปเชื่อว่าอะไรที่เราไม่ชอบ แต่จากการฝึกฝนทำให้เราได้มันมาติดตัว จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในแต่ละวันไปเลย
จริง ๆ แล้วงานแกะสลักผักผลไม้มีมาตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณกันเลยทีเดียว กล่าวกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยแผ่นดินกรุงสุโขทัย ผู้ที่คิดค้นเป็นคนแรกก็คือ นางนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ได้ตกแต่งโคมลอย โดยใช้งานแกะสลักมาประดับประดาให้เกิดความงดงามและวิจิตรบรรจงสวยสะดุดตา
งานศิลปะและความงดงามในฝีไม้ลายมือของคนไทยจึงเป็นที่กล่าวขาน ขนานนามกันในงานแกะสลักผักผลไม้ว่าเป็นที่สุดของโลก งานแกะสลักของคนไทยจะเน้นไปที่ความละเอียด อ่อนช้อยและงดงามยิ่งนัก เราจึงสืบทอดงานศิลปะนี้ส่งต่อมาในรูปแบบของการจัดตกแต่งอาหาร ให้ดูน่ารับประทาน สร้างมูลค่าและความน่าประทับใจ
มีดแกะสลักผักผลไม้ เราสามารถนำมาทำเป็นใบไม้ ดอกไม้ ตัวสัตว์ เพื่อนำมาตกแต่งในรูปแบบต่าง ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น การจัดเลี้ยง การจัดตกแต่งจานอาหาร การจัดแจกัน หรือแม้แต่ทำเป็นอาหารจากการแกะสลักเช่น สังขยาฟักทอง หรือนำมาแกะสลักเป็นจานหรือภาชนะใส่อาหารที่ดูหรูหราหมาเห่ากันเลยทีเดียว
มีดแกะสลักผักผลไม้ จะมีทั้งแบบตรง แบบโค้ง มีอุปกรณ์เสริมเป็นชุด มีเยอะแยะมากมาก ขึ้นอยู่กับการเลือกนำมาใช้และความถนัดของผู้แกะ
มีดแกะสลักที่ดีควรมีลักษณะดังนี้
- มีดน้ำหนักเบา เวลาทำงานเป็นเวลานาน ๆ จะช่วยลดความเมื่อยล้า
- มีความคม จะช่วยให้ชิ้นงานสวย ไม่ช้ำ และทำงานได้เร็วขึ้น
- มีขนาดที่พอเหมาะ จับถนัดมือ
- ตัวมีดจะต้องไม่เป็นสนิมง่าย เพราะเรานำมาแกะสลักกับผักผลไม้ที่เราจะนำมารับประทาน
- มีดต้องไม่มีรอยบิ่น ควรมีปอกเพื่อป้องกันมีดบิ่น
ขั้นตอนและวิธีการในการจัดเตรียมงานแกะสลักผักผลไม้
- เลือกรูปแบบของการจัด ต้องรู้ว่าเราจะจัดในรูปแบบไหน แบบงานเลี้ยง จัดตกแต่งจานอาหาร จัดแจกัน หรือจะทำเป็นภาชนะ
- เลือกผักผลไม้ให้เข้ากับรูปแบบ
- จัดเตรียมมีดแกะสลัก และวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการทำงานแกะสลัก
- ระยะเวลาในการใช้งาน
- วิธีการเก็บรักษาผลงานก่อนนำออกมาใช้งานจริง
วิธีการดูแลและรักษาวัสดุและอุปกรณ์แกะสลักผักผลไม้
- ล้างทำความมีดแกะสลักและอุปกรณ์ให้สะอาดทุกครั้งหลังการใช้งาน
- ใช้ผ้าขนหนูนิ่มๆเช็ดทำความสะอาดให้แห้ง
- เก็บไว้ในที่แห้ง ห่างไกลมือเด็ก เพราะเป็นของมีคม
- ควรใช้กระดาษทรายในการลับมีดแกะสลัก ไม่ควรใช้หินลับมีด จะทำให้มีดสึกและบาง เปราะง่าย
ผักผลไม้ที่เป็นที่นิยมนำมาแกะสลักส่วนใหญ่ก็จะมี แตงโม แคนตาลูป ฟักทอง มะเขือเทศ แตงกวา แครอท มะละกอ หัวไชเท้า เป็นต้น ตาชอบงานแกะสลักผักผลไม้ เพราะว่าได้ฝึกสมาธิและก็เป็นการคลายเครียดด้วย เวลาเราทำงานแกะสลักเราจะโฟกัสไปที่งาน ทำให้มีใจที่จดจ่อไม่คิดเรื่องอื่น ชั่งเป็นงานที่สร้างความภูมิใจและได้สมาธิไปด้วย ดีงามอะไรเช่นนี้ว่ามั้ย ใครที่เป็นสาวกงานฝีมือ แกะสลักผักผลไม้ ก็ไม่ควรพลาดที่จะมีมีดแกะสลักดี ๆ ไว้ใช้ในงานซักเล่มนะคะ
สำหรับใครที่เพิ่งเริ่มต้นในการเรียนรู้งานแกะสลักผักผลไม้เบื้องต้น สามารถติดตามและเรียนรู้งานแกะสลักไปพร้อมกับตาได้ที่ Facebook และ Youtube แล้วเจอกันนะคะ
ติดตามผลงานได้ที่
ติดต่อพูดคุยได้ที่
Line: Tukta1240
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น